รายงานล่าสุดจาก New Scientist ระบุว่านักวิจัยได้ค้นพบว่ามนุษย์พัฒนาการเล่นหมากล้อมได้เร็วกว่าระบบ AI นักวิจัยใช้เวลาหลายปีในการติดตามและเปรียบเทียบความก้าวหน้าของผู้เล่นหมากล้อมมืออาชีพและหมากล้อม AI
หมากล้อม เป็นเกมกระดานแบบดั้งเดิมที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน กระดานประกอบด้วยเส้นแนวนอน 19 เส้นและแนวตั้ง 19 เส้น โดยจะให้ผู้เล่นผลัดกันวางหินขาวดำตรงที่เส้นบรรจบกัน ผู้เล่นที่มีพื้นที่มากที่สุดบนกระดานจะเป็นผู้ชนะ ก่อนปีพ.ศ. 2559 AI ยังไม่สามารถเอาชนะผู้เล่นที่เก่งที่สุดได้เลย แต่ในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2560 AI ที่มีชื่อว่า “AlphaGo” สามารถเอาชนะผู้ท้าชิงที่เป็นมนุษย์ได้ทั้งหมด
นักวิจัยจาก City University of Hong Kong ได้ศึกษาความฉลาดของมนุษย์ โดยได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการวางหมาก 5.8 ล้านท่าที่ทำโดยผู้เล่นมืออาชีพระหว่างปีพ.ศ. 2493 ถึง 2564 โดยใช้วิธีการที่เรียกว่าดัชนีคุณภาพการตัดสินใจ (DQI) เพื่อวัดคุณภาพของการวางหมากแต่ละครั้งและพิจารณาว่าเป็นการวางหมากที่ “แปลกใหม่” หรือไม่ สิ่งนี้ทำให้พวกเขาสามารถวิเคราะห์ระดับการพัฒนาของผู้เล่นหมากล้อมได้ในช่วงเวลาหนึ่ง
นักวิจัยค้นพบว่าระหว่างปีพ.ศ. 2493 ถึง 2558 ก่อนที่ AI จะแซงหน้าผู้เล่นที่เป็นมนุษย์ ค่า DQI ของผู้เล่นที่เป็นมนุษย์นั้นมีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือลดลงเล็กน้อยเท่านั้น ตั้งแต่ -0.2 ถึง +0.2 แต่หลังจากปีพ.ศ. 2561 ถึงปี 2564 หลังจากมีข่าวว่า AI เริ่มเอาชนะผู้เล่นที่เป็นมนุษย์ ค่า DQI ของผู้เล่นที่เป็นมนุษย์ก็พุ่งขึ้นเป็น 0.7 และแสดงการเคลื่อนไหวที่ “แปลกใหม่” มากขึ้น
จากข้อมูลของ New Scientist นักวิจัยที่ศึกษาการเล่นหมากล้อมได้เน้นย้ำว่าภายในปีพ.ศ. 2561 ผู้เล่นที่เป็นมนุษย์ได้พัฒนาทักษะในเกมถึง 88% โดยวัดด้วยวิธี DQI แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำไมมนุษย์จึงมีการพัฒนาที่ดีขึ้น Stuart Russell นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก University of California, Berkeley แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนานี้ โดยกล่าวว่าคาดว่าเป็นเพราะมนุษย์พยายามเอาชนะ AI โดยจะพยายามทำการวางหมากที่แปลกใหม่และเครื่องยังไม่สามารถตรวจสอบได้
และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีรายงานว่าผู้เล่นที่เป็นมนุษย์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เป็น AI ได้แล้ว ผู้เล่นหมากล้อม ชื่อ Kellin Pelrine ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “sound in the east, strike in the west” เพื่อเอาชนะหมากล้อม AI ที่เรียกว่า “KataGo” Pelrine กล่าวว่าครั้งแรกที่เขาพยายามเอาชนะ AI ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากนั้นเขาก็ชนะ 14 เกมติดต่อกันโดยใช้กลยุทธ์ที่คล้ายกัน เขายังใช้กลยุทธ์เดียวกันเพื่อเอาชนะ Go AI อันดับต้น ๆ ที่เรียกว่า “Leela Zero” อีกด้วย
“การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า AI ไม่ได้ฉลาดกว่าคุณเสมอไป”